วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า

1. บริการตอบคำถาม (reference service) เป็นบริการช่วยผู้ใช้ในการค้นหาคำตอบที่ต้องการ ซึ่งผู้ใช้อาจสอบถามด้วยตนเอง ที่โต๊ะบริการตอบคำถาม สอบถามทางโทรศัพท์หรือทางไปรษณีย์ ลักษณะของคำถามอาจเป็นคำถามทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุด เช่น คำถามเกี่ยวกับแหล่งจัดเก็บและบริการหนังสือ วารสาร วัสดุไม่ตีพิมพ์ ระบบการจัดหมวดหมู่หนังสือ สัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นต้น หรืออาจเป็นคำถามที่ต้องใช้หนังสือ หรือหลักฐานอ้างอิงในการค้นหาคำตอบ หรืออาจเป็นเรื่องของการแนะนำหนังสือ วารสาร วัสดุสารสนเทศอื่นๆ ให้เลือกอ่านตามความสนใจ
2. บริการช่วยค้นคว้าวิจัย (research service) เป็นบริการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ห้องสมุดในการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังศึกษาวิจัย  ซึ่งบรรณารักษ์จะทำการติดตามข่าวสารความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษา จัดหา รวบรวม จากหนังสือ วารสาร เอกสาร ทั้งที่เป็นสิ่งตีพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฐานข้อมูลซีดีรอม ฐานข้อมูลออนไลน์ ต่างๆ จัดทำคู่มือ/เครื่องมือเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูล สารสนเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การจัดบริการมีดังนี้
          บริการสืบค้นข้อมูลหรือบริการช่วยค้นคว้าวรรณกรรมในแขนงวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างละเอียด ในหัวข้อ ปัญหา หรือ เรื่องราวในสาขาวิชาที่กำลังศึกษาวิจัย โดยการสืบค้นรวบรวมรายชื่อหนังสือ สิ่งพิมพ์ เอกสาร วรรณกรรมจากฐานข้อมูล และวัสดุสารสนเทศต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องไว้ ซึ่งอาจจัดทำสาระสังเขปประกอบไว้ด้วยเพื่อช่วยประหยัดเวลาในการอ่านของผู้ใช้
          บริการจัดทำดรรชนี เพื่อเป็นคู่มือในการค้นหาสารสนเทศจากทรัพยากร ห้องสมุด เช่น ดรรชนีวารสารที่ห้องสมุดบอกรับ และเนื่องจากบางครั้งการสร้างดรรชนีค้นจากการทำรายการของห้องสมุดอาจไม่ละเอียดพอ และมีสารสนเทศบางรายการที่มีคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้าซ่อนอยู่ สิ่งพิมพ์บางรายการจัดทำดรรชนีเฉพาะชื่อเรื่องเท่านั้น หรือ สิ่งพิมพ์บางเล่มมีเนื้อหาหลายเรื่องอยู่ในเล่มเดียวกัน การสร้างดรรชนีคำค้นอาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด เช่น หนังสืออนุสรณ์ หนังสือรวมบทความ เอกสารการประชุมสัมมนาต่างๆ หนังสือราชกิจจานุเบกษา สยามจดหมายเหตุ เป็นต้น จึงเป็นหน้าที่ของบรรณารักษ์บริการตอบคำถาม ที่จะต้องสร้างเครื่องมือในการค้นหาเพื่อให้สามารถเข้าถึงและสามารถบริการสารสนเทศแก่ผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว
          บริการจัดทำสาระสังเขป สาระสังเขปแต่ละรายการจะให้รายละเอียดทางบรรณานุกรมอย่างครบถ้วน ได้แก่ ผู้แต่ง ชื่อเรื่อง สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์ พร้อมเนื้อหาสาระที่สำคัญโดยสรุป ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดเวลาของผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้ได้อ่านสาระสังเขปจะสามารถทราบได้ว่าหนังสือ สิ่งพิมพ์ วัสดุสารสนเทศ นั้นๆ ตรงกับความต้องการหรือไม่ และหากสนใจจะอ่านฉบับเต็มก็สามารถติดตามหาอ่านได้ง่าย
3. บริการยืมระหว่างห้องสมุด เป็นบริการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ห้องสมุด  ในกรณีที่สำนักหอสมุดไม่มีรายการทรัพยากรสารสนเทศที่ผู้ใช้ต้องการ ไม่สามารถจัดหามาบริการได้ทันกับความต้องการ หรือ อาจด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ไม่ว่าห้องสมุดใดๆ ก็ไม่สามารถจัดหาหนังสือทุกเล่ม วัสดุสารสนเทศทุกรายการที่มีผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายมาไว้ให้บริการในห้องสมุดของตนได้ หรือรายการสารสนเทศนั้นไม่มีจำหน่าย  หรือจำหน่ายหมดแล้วและไม่ผลิตซ้ำอีก ซึ่งบรรณารักษ์จะทำการสืบค้นตรวจสอบว่ารายการนั้นๆ มีให้บริการในสถาบันบริการสารสนเทศใด สามารถขอยืมฉบับจริงมาให้กับผู้ใช้ได้หรือไม่ หรืออาจขอทำสำเนาเอกสารมาให้บริการ บริการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลน  หรือความไม่พอเพียงของทรัพยาการของห้องสมุดได้ และยังช่วยประหยัดงบประมาณในการพัฒนาทรัพยากรห้องสมุดได้ด้วย
4. บริการจัดทำบรรณานุกรม เป็นการรวบรวมรายชื่อหนังสือ บทความวารสาร หนังสือพิมพ์ หรือ สื่อสารสนเทศอื่นๆ เช่น แผนที่ รูปภาพ ฯลฯ โดยบรรณารักษ์บริการตอบคำถามจะทำการรวบรวมรายการสารสนเทศเหล่านี้ นำมาจัดเรียงตามหลักเกณฑ์การจัดทำบรรณานุกรม ซึ่งอาจจัดเรียงแยกตามประเภทของสื่อสารสนเทศ หรือ อาจเรียงทุกประเภทรวมกันก็ได้ 
             การจัดทำบรรณานุกรมนี้ อาจจัดทำเฉพาะเรื่องตามความต้องการของผู้ใช้ หรือเป็นบรรณานุกรมเรื่องที่น่าสนใจก็ได้  ทั้งนี้เป็นการคาดคะเนถึงความต้องการใช้สารสนเทศของบรรณารักษ์บริการตอบคำถาม ที่ได้สัมผัสกับผู้ใช้โดยตรง และเป็นผู้ที่ต้องติดตามข่าวสารความรู้ หลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ โดยจะคำนึงถึงขอบเขตเนื้อหาของเรื่องที่จะรวบรวม ความทันสมัยของวัสดุสารสนเทศ การลงรายการ วัตถุประสงค์ในการใช้ ทั้งนี้รายการบรรณานุกรมอาจมีสาระสังเขปประกอบด้วย เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการอ่านให้กับผู้ใช้
             บริการจัดทำบรรณานุกรมนี้หมายรวมถึง การให้ความช่วยเหลือแนะนำในการค้นหารายละเอียดทางบรรณานุกรม กรณีที่ผู้ใช้ห้องสมุดต้องการทราบรายละเอียดทางบรรณานุกรมหนังสือ เอกสาร วัสดุสารสนเทศที่ต้องการ แต่ไม่สามารถค้นหาได้  และรวมถึงบริการแนะนำการเขียนบรรณานุกรมซึ่งก็เป็นอีกบริการหนึ่งที่บรรณารักษ์ตอบคำถามจะต้องให้คำแนะนำปรึกษา เพราะในการเขียนผลงานทางวิชาการ การทำรายงานการค้นคว้าวิจัย วิทยานิพนธ์ นั้นจำเป็นต้องเขียนอ้างอิงเพื่อเป็นหลักฐานและข้อเท็จจริง ตลอดจนเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเจ้าของผลงาน และรวมถึงในแง่ของสิขสิทธิ์ผลงานด้วย บางครั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานอาจไม่แน่ใจในหลักการเขียนอ้างอิงทางวิชาการ บรรณารักษ์ตอบคำถามจะคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ

5. บริการสอนการใช้ห้องสมุด เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของบรรณารักษ์บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า ที่จะต้องสอนให้ผู้ใช้ห้องสมุดให้รู้จักใช้ห้องสมุดได้ด้วยตนเอง คือให้ผู้ใช้ได้รู้จักห้องสมุด ใช้บริการต่างๆ ของห้องสมุด ใช้หนังสืออ้างอิง ทรัพยากรสารสนเทศในสาขาวิชาต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบทั้งหนังสือ วารสาร จุลสาร เอกสาร กฤตภาค ฐานข้อมูล และอื่นๆ  ตลอดจนรู้จักใช้เครื่องมือ/คู่มือ ในการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยต่างๆ  ที่ห้องสมุดจัดหาไว้บริการให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด ทั้งนี้การสอนการใช้ห้องสมุดจะทำให้ผู้ใช้คุ้นเคยกับวัสดุสารสนเทศต่างๆ ในห้องสมุด ผู้ใช้มีทักษะในการที่จะแสวงหาสารสนเทศตามความต้องการได้อย่างอิสระเสรี
ที่มา : http://www.lib.ru.ac.th/article/refservice.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น